ประวัติสภาคณาจารย์และพนักงาน

    สภาคณาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตลาดกระบัง (ชื่อในขณะนั้น) ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยยังไม่มี พรบ. หรือข้อบังคับรับรอง มีผศ.สมผล โกศัลวิตร์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เป็นประธานสภาคณาจารย์คนแรก โดยมีสมาชิกจากทุกส่วนงาน ดำเนินกิจกรรมทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนมากจะเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาคมในสถาบัน แต่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะปัญหาต่าง ๆ ต่อผู้บริหาร จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้งสามวิทยาเขต (ลาดกระบัง ธนบุรี และพระนครเหนือ) มีความคิดร่วมกันที่จะแยกการบริหารสูงสุดออกจากกันโดยให้มีอธิการบดีของแต่ละสถาบัน จึงทำให้เกิดพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. ๒๕๒๘ ขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นผู้บริหารของทั้งสามสถาบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสภาคณาจารย์จึงได้กำหนดให้มีสภาคณาจารย์อยู่ใน พรบ. สถาบันฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ ส่วนที่ ๒ “สภาสถาบันและสภาคณาจารย์สถาบัน”

  • มาตรา ๑๖ ให้มีสภาคณาจารย์สถาบัน ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคณาจารย์ประจำของสถาบันเลือกตั้งขึ้นจากคณาจารย์ประจำของสถาบัน และให้สมาชิกเลือกประธาน รองประธาน เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นจากสมาชิกตามแต่จะเห็นสมควร จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือกตั้งและวาระของสมาชิก ตลอดจนวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นตำแหน่ง และการดำเนินงานของสภาคณาจารย์สถาบัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน
  • มาตรา ๑๗ สภาคณาจารย์สถาบัน มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่ออธิการบดี และหน้าที่อื่นตามที่สภาสถาบัน หรือ อธิการบดีมอบหมาย

    ในช่วงเวลานั้น รศ.ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของสภาคณาจารย์ซึ่งมี ผศ.ธีรศักดิ์ อินทรประสงค์ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) เป็นประธานสภาคณาจารย์อย่างเต็มที่ และเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ (วันสถาปนาสภาคณาจารย์ สจล.) ได้มีการประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยสภาคณาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เป็นประธานสภาคณาจารย์คนแรก ตามข้อบังคับนี้ และมีสมาชิกมาจากทุกส่วนงาน (ระดับคณะ) แต่ยังไม่มีสำนักงาน และไม่มีเจ้าหน้าที่

    จนกระทั่งมาถึงสมัย ผศ.พรศักดิ์ อรรถวานิช (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เป็นประธานสภาคณาจารย์ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ทบวงมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษามีเจ้าหน้าที่ประจำงานสภาคณาจารย์ โดยให้สังกัดกองกลาง สำนักงานอธิการบดี ที่ตั้งของสำนักงานสภาคณาจารย์แห่งแรกคือ ชั้นสองของอาคารเมมโมเรียลฮอลล์ ข้างหอประชุมใหญ่สถาบันฯ มีอุปกรณ์สำนักงาน ชุดรับแขก เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์ที่สามารถติดต่องานภายในและภายนอก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอธิการบดีทั้งสองท่าน (รศ.ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ และ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์) หลังจากนั้นสภาคณาจารย์เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นกรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี คณบดี เป็นกรรมการ อ.ก.ม. เป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหาร เป็นต้น ในเวลาต่อมาได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่อาคารสมเด็จพระเทพฯ ๑ (ในปัจจุบัน) โดยได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดีท่านที่สาม (รศ.ดร. ประกิจ ตังติสานนท์)

    สำหรับบทบาทของสภาคณาจารย์ สจล. ในที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เริ่มต้นจากในสมัยของอาจารย์ขอม ถึงแก้ว เป็นประธานสภาคณาจารย์ (พ.ศ. ๒๕๓๓) มีสมาชิกของสภาคณาจารย์ สจล. เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปอมท. คือ รศ.ดร.จิราภา วิทยาภิรักษ์ (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม) และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาคณาจารย์ (พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘) ขณะดำรงตำแหน่งได้สร้างผลงานหลายอย่าง อาทิเช่น ขอให้มีรถโดยสารปรับอากาศ ปอ.๑๘ ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ริเริ่มโครงการตลาดนัดสินค้าราคาประหยัด “พระจอมเกล้ามาร์ท” และโครงการ “ค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อน” ซึ่งเป็นผลทำให้สภาคณาจารย์มีความแข็งแกร่ง ช่วยเหลือสังคม สจล. ได้อย่างภาคภูมิใจ และมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย หลังจากนั้น รศ.ดร.รวีวรรณ ชินะตระกูล (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม) ได้เข้ามาทำหน้าที่ประธานสภาคณาจารย์ และได้สานต่อโครงการ “พระจอมเกล้ามาร์ท” และ “ค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อน” ต่อมา ผศ.ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค (คณะเทคโนโลยีการเกษตร) ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ เริ่มต้นจัดให้มี “งานยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรที่ปฏิบัติงานครบ ๒๕ ปี” ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรในสถาบัน และนับว่าเป็นยุคที่สภาคณาจารย์ สจล. ได้มีบทบาทอย่างจริงจังในที่ประชุม ปอมท. โดยท่านได้ทำหน้าที่เลขาธิการ ปอมท. และต่อมาได้เป็นรองประธาน ปอมท. จนกระทั่งที่ประชุม ปอมท. เสนอให้ท่านเป็นประธาน ปอมท. เป็นเวลา ๑ ปี ท่านได้จัดทำโครงการประชุมทางวิชาการของ ปอมท. ณ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๙ – ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ งานนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งนี้เพราะมีทีมงานที่แข็งแกร่ง จนเป็นที่ยอมรับของชาว ปอมท. ดังนั้นสมาชิก ปอมท. จึงเลือกท่านเป็นประธาน ปอมท. ต่ออีกสมัยหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายท่านไม่สามารถที่จะเป็นประธาน ปอมท. ต่อได้ เพราะต้องมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง สจล. มีผลทำให้ตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ สจล. ต้องว่างลงด้วย ประธานสภาคณาจารย์ สจล. คนใหม่ คือ รศ.ศิริวัฒน์ โพธิเวชกุล (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในขณะที่สถาบันฯ กำลังร่าง พรบ. สถาบันฯ ฉบับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สภาคณาจารย์ได้ทำการเผยแพร่ร่าง พรบ. สถาบันฯและพยายามให้ความรู้กับบุคลากรอย่างจริงจังซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ทำให้ประชาคม สจล. เริ่มเข้าใจในร่าง พรบ. ฉบับนี้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทำร่างข้อบังคับประกอบร่าง พรบ. ไปพร้อมกันด้วย และยังคงสานต่อนโยบายของกิจกรรมสภาคณาจารย์ที่เคยดำเนินการมาและเป็นประโยชน์ให้ดำเนินงานต่อไป นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของสถาบันฯ ไปสู่ชุมชน และระดับประเทศ คือ “โครงการพระจอมเกล้าลาดกระบัง มินิมาราธอน ครั้งที่ 1” ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี รวมถึงยังได้มีการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ เช่น ทางเท้าที่มีหลังคา ระบบการจราจรของสถาบันฯ เป็นต้น

ในเวลาต่อมาสถาบัน ฯ ได้เปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ (ในกำกับของรัฐ) ตาม พรบ. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีบุคลากรที่ประกอบด้วยข้าราชการ พนักงานสถาบันที่เปลี่ยนสภาพมาจากข้าราชการ และพนักงานสถาบัน และได้เริ่มใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยสภาคณาจารย์และพนักงาน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยมีอาจารย์พงศ์ทิพย์ อินทร์แก้ว (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม) เป็นประธานสภาคณาจารย์และพนักงานคนแรก (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๕) แต่เนื่องจากตามข้อบังคับนี้ (ฉบับที่ ๒) ได้มีการจำกัดสิทธิของข้าราชการโดยกำหนดว่ากรรมการสภาคณาจารย์และพนักงานต้องเป็นพนักงานสถาบันเท่านั้น ทำให้ในเวลาต่อมา อาจารย์พงศ์ทิพย์ อินทร์แก้ว และกรรมการสภาคณาจารย์และพนักงานจึงได้มีมติเห็นชอบให้เสนอสภาสถาบันแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้ข้าราชการสามารถเป็นกรรมการได้ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เริ่มใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยสภาคณาจารย์และพนักงาน พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการและพนักงานสถาบันและมี รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เป็นประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน (พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙)

เรียบเรียงจากบันทึกของ ผศ.มานพ สุดสงวน
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

Scroll to Top